ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ภายหลังการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด ประจำวันที่ 24 ก.พ. 66
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ภายหลังการเปิดเผยรายงานประชุมเฟด ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ล่าสุด CME FedWatch Tool ชี้นักลงทุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25 ในการประชุมเฟด 3 ครั้งถัดไป
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 34.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (23/2) ที่ระดับ 34.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าภายหลังการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566โดยแม้ว่าคณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 4.50-4.75 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 2550
แต่เนื่องจากสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อในขณะนี้ยังไม่เพียงพอในการสร้างความเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อสหรัฐสามารถกลับทิศทางเป็นขาลงอย่างยั่งยืนและเฟดยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายร้อยละ 2 โดยการตึงตัวของตลาดแรงงานยังเป็นปัจจัยสนับสนุนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดเช่นกัน
นอกจากนี้นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ เป็นเจ้าหน้าที่เฟดสองท่านที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.50 และมีความเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอย่างแข็งกร้าวมิได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 ที่เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25 ในการประชุมเฟด 3 ครั้งถัดไปและจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับร้อยละ 5.25-5.50
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในช่วงก่อนหน้านี้ส่งผลให้ปัญหาหนี้ส่วนใหญ่ยังไม่คลี่คลาย
โดยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2565 ยอดหนี้ลดลงร้อยละ 87 ของจีดีพี แต่มีปริมาณหนี้สูงถึง 14.9 ล้านล้านบาท ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.50-34.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 1.0611/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (23/2) ที่ระดับ 1.0645/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตาดูการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมโดยสำนักงานสถิติยุโรปช่วงเย็นวานนี้ (23/02) โดยคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวที่ระดับ 8.6% ซึ่งมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8.5% และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานจะขยายตัวที่ระดับ 5.2% เท่ากับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0588-1.0627 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0590/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/2) ที่ระดับ 134.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (23/2) ที่ระดับ 134.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนยังคงจับตาดูท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ภายหลังการหมดวาระของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบัน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.71-134.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (23/2) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (24/2)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.5/-9.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8..7/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
แนะนำข่าวการเงิน อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.47/48 แกว่งแคบ ไร้ปัจจัยใหม่หนุนทิศทาง