ส่องกลเม็ด’ธรรมศาสตร์’ปั้นตลาดนัด-พื้นที่ธุรกิจ จุดประกายนศ.รับใช้ชุมชน
ท่ามกลางความผันผวน ความไม่แน่นอน และความคลุมเครือของโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการจำกัดความในภายหลังว่า VUCA เรียกร้องให้ ‘มหาวิทยาลัย’ ต้องธำรงบทบาทการเป็น ‘เสาหลัก’ ให้กับสังคม และเป็นแสงสว่างให้กับประชาชน
‘ธรรมศาสตร์’ มีแนวคิดการศึกษาเชิงผลิตภาพ หรือ ‘มหาวิทยาลัย 4.0’ ที่มหาวิทยาลัยในฐานะคลังทรัพยากร ทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย กำลังคน งบประมาณ สถานที่ อาณาบริเวณ ฯลฯ จะต้องนำทรัพยากรเหล่านั้นออกมา ‘ตอบสนอง’ ความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ในระดับประเทศ
ด้วยปณิธานการเป็น ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’ และด้วยการตั้ง ‘ตัวชี้วัด’ ของทุกนโยบายให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทำให้บทบาทของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นาทีนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ควรค่าแก่การนำมาบอกต่อ
เพราะความเรียบง่ายคือคำตอบ ดังนั้นแม้ว่าเป้าหมายข้างต้นจะดูเป็นสากลและสอดคล้องกับยุคสมัยเพียงใด หากแต่สิ่งที่ ‘ธรรมศาสตร์’ ได้ริเริ่มดำเนินการกลับเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าไม่ได้หวือหวาอะไร ทว่าสามารถเชื่อมร้อยกับชุมชนได้อย่างกลมเกลียว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการ ‘1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล’ ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขันอาสารับหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ 3 ตำบลของ จ.ปทุมธานี ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
พื้นที่มากกว่า 600 ไร่ ภายใต้การบริหารจัดการของ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ.จึงได้รับการจัดสรรเป็นสัดส่วน โดยตั้งต้นจากการให้ความสำคัญกับนักศึกษาเป็นอันดับแรก พร้อมๆ ไปกับการเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยเข้ากับชุมชน
ธรรมศาสตร์เลือกที่จะใช้ ‘ตลาด’ เป็นเครื่องมือในการผสานความร่วมแรงร่วมใจระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชน โดยได้จัดตั้งตลาด ‘ตลาดนัดอินเตอร์โซน’ และ ‘เชียงรากมาร์เก็ต’ ขึ้นในมหาวิทยาลัย ในรูปแบบตลาดช่วงเย็น รวบรวมของอร่อย สินค้าสไลฟ์สไตล์ และเปิดกว้างพื้นที่กิจกรรม โดยที่มาสินค้าในตลาดนั้นเป็นการชักชวนชุมชน-เครือข่ายเกษตรกรใน จ.ปทุมธานี เข้ามาตั้งแผงขายสินค้า ทั้งผักสด ผลไม้ปลอดภัย เนื้อสัตว์อนามัย รวมถึงสินค้าอุปโภค บริโภค มากมาย ท่ามกลางความสนใจของลูกค้าที่หมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 3.5 หมื่นราย
นายภูวดล สิริชัยสินธพ ผู้จัดการฝ่ายบริหารพื้นที่ธุรกิจ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. เล่าว่า จากเดิมที่มีเพียงตลาดนัดอินเตอร์โซนซึ่งเป็นตลาดช่วงเย็นวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เปิดบริการเพียง 2 วัน / สัปดาห์ ในปัจจุบันเราพัฒนาเชียงรากมาร์เก็ต ช่วงเย็นวันอังคารและวันพุธ ให้สามารถเปิดบริการตลาดนัดได้ 4 วัน/สัปดาห์ และจะเพิ่มเป็นทุกวันในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งผู้ซื้อและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งสินค้าที่วางขายในตลาดเชียงรากมาร์เก็ตนั้น เป็นสินค้าที่มาจากนักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
ข่าวแนะนำ : สะท้อนเด็กไทยเตรียมศึกษาต่อต่างประเทศ